วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

รูปฉายลายชีพ เขียนโดย โชคชัย บัณทิต

รูปฉายลายชีพ เขียนโดย โชคชัย บัณทิต


รูปฉายลายชีพ เป็นหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ ๕๖ บท ระหว่างช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๓ กวีนิพนธ์แต่ละบทแม้จะแต่งขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่ได้ผ่านการคัดสรรและจัดลำดับภายในกรอบของโครงเรื่อง “รูปเล่าเรื่อง”
“รูป” ในที่นี้มีทั้งภาพวาด ภาพถ่าย ภาพในจินตนาการ ภาพที่ได้พบเห็น ภาพในความทรงจำ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนถึง “เรื่อง” อันได้แก่ชีวิตหลากหลายแง่มุมที่หลายคนอาจจะมองข้ามออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นหญิงบ้า หมอดู คนใบ้หวย เด็กขายของ ขโมยหรือพระ “ชีวิต” เหล่านี้มีทั้งที่เจาะจงเฉพาะชีวิตใครคนใดคนหนึ่งและชีวิตของผู้คนที่มารวมกันในที่นั้นๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ กันในกวีนิพนธ์แต่ละบท กวีนิพนธ์บทแรกคือ “รูปฉายลายชีพ” เป็นเสมือนบทนำ กวีนิพนธ์บทที่ ๒๙ คือ “รูปฉายลายชีพ: แอ็คชั่น” เป็นบทเชื่อมระหว่างบทนำกับบทลงท้ายให้มีความต่อเนื่องกัน โดยมีกวีนิพนธ์บทที่ ๕๖ คือ “รูปฉายลายชีพ: แอนิเมชั่น” เป็นเสมือนบทลงท้ายที่ฉายให้เห็นจุดเริ่มต้นจากวัยเด็กที่ดำเนินมาสู่จุดสุดท้ายคือวัยชรา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กวีนิพนธ์เล่มนี้มีทั้งเอกภาพด้านโครงเรื่อง และเป็นเอกเทศในแต่ละบทที่นำมาร้อยรวมเข้าด้วยกัน สะท้อนถึงความเป็นมาและเป็นไปของชีวิตผ่านสายตากวี
รูปฉายลายชีพ ใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยเป็นกาพย์ยานี ๑๑ จังหวะกลอนและกาพย์รื่นไหล ใช้ภาษาที่เรียบง่าย งดงาม มีความหมายกระทบใจ กวีนิพนธ์หลายบทเขียนให้คิดไปได้ไกลกว่าถ้อยคำที่ปรากฏ โดยเฉพาะการตั้งชื่อกวีนิพนธ์แต่ละบทมีทั้งตรงไปตรงมา เสียดสี และชวนให้คิด เช่น “ภาพในเพลง” “คนขายอนาคต” “นิทรรศกาม”
กลวิธีการนำเสนอเป็นไปในลักษณะเล่าเรื่อง บางครั้งทิ้งคำถามไว้ในบทกวีเพื่อให้ผู้อ่านหาคำตอบด้วยตัวเอง ที่น่าสนใจคือผู้แต่งใช้กวีนิพนธ์ทำหน้าที่เสมือนกล้องบันทึกความสัมพันธ์ระหว่าง “รูป” และ “ชีวิต” รูปฉายลายชีพ จึงเป็นชื่อที่ครอบคลุมเนื้อเรื่องทั้งหมด เพราะเป็นการฉายรูปให้เห็นว่า “ชีวิต” เป็นอย่างไร “รูป” ก็เป็นอย่างนั้นไม่ต่างกัน เพราะ “รูป” ก็คือชีวิต “ชีวิต” ก็คือ “รูป” นั่นเอง