วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เดินตามรอย เขียนโดย วันเนาว์ ยูเด็น

เดินตามรอย เขียนโดย วันเนาว์ ยูเด็น

วันเนาว์ ยูเด็น ประพันธ์เรื่องเดินตามรอยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่เจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงมีพระราช

จริยวัตรอันงดงาม และกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่พสกนิกรในโอกาสต่างๆ ล้วนเปี่ยมด้วยคติธรรมซึ่งได้แนวทางมาจากโคลงโลกนิติ ผู้เขียนจึงเลือกโคลงโลกนิติ ๘๐ บทเพื่อให้เหมาะแก่วโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร ทรงนิพนธ์โคลงโลกนิติขึ้นเมื่อเกือบ ๑๘๐ ปีมาแล้ว หลายบทมีสำนวนภาษาเก่าเกินกว่าที่คนในปัจจุบันจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ จึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ วันเนาว์ ผู้เห็นว่าโคลงโลกนิติเป็นวรรณกรรมคำสอนที่ทรงคุณค่า จึงพยายามที่จะสร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นมาใหม่ให้อ่านง่ายขึ้นโดยมีโคลงโลกนิติบทที่เป็นต้นแบบ จัดวางพิมพ์ไว้ในหน้าซ้าย แล้วแต่งกลอนสุภาพพิมพ์ไว้ในหน้าขวา โดยคุมความหมายโคลง ๑ บาท ให้เท่ากับกลอนสุภาพ ๑ บท ดังนั้น โคลง ๑ บทจึงประพันธ์เป็นกลอนได้ ๔ บท แต่ผู้ประพันธ์มิได้ทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดความหมายออกมาในรูปบทกลอนเท่านั้น ยังได้ประพันธ์ต่อท้ายด้วยกลอนบทที่ ๕ ที่แสดงความรู้สึกนึกคิด ทัศนะ อีกทั้งวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนั้นๆ โดยอาศัยทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิและประสบการณ์อันยาวนานในชีวิต มองความเป็นไปในโลกนี้ด้วยความเชื่อมั่น

นอกจากความสามารถในการคุมคำ คุมความได้อย่างครบถ้วนแล้ว วันเนาว์ ยังได้แสดงฝีมือนักกลอนชั้นครู แหลมคมด้วยการเลือกใช้คำที่เข้าใจง่าย ถึงพร้อมด้วยวรรณศิลป์ ไพเราะสละสลวย น่าประทับใจและน่าจดจำ เช่น

เมื่อทำชอบชอบต้องสนองกลับ ไม่เลือนลับความชอบตอบต่อผล
ยื่นความชอบมอบให้แก่ใจคน ความชอบดลสิ่งชอบมาตอบแทน
เดินตามรอย จึงเป็นวรรณกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการเป็นสะพานแห่งยุคสมัยที่เชื่อมต่อระหว่างวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าในอดีตกับปัจจุบันซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถใช้เป็นหลักคิดได้ และอาจย้อนกลับไปอ่านโคลงโลกนิติเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม ดังที่ผู้เขียนกล่าวว่า
คำเตือนติงสิ่งสอนแต่ก่อนเก่า ช่วยให้เรานั้นมีที่ปรึกษา
เดินตามทางอย่างดีที่มีมา ย่อมดีกว่างวยงงเดินหลงทาง
อาจนับว่า เดินตามรอย เป็นวรรณกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างหมดจด งดงาม