วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เขียนโดย ซะการีย์ยา อมตยา

ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เขียนโดย ซะการีย์ยา อมตยา


ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) ที่มีความสั้น-ยาวแตกต่างกันตั้งแต่ ๑๑ บรรทัดจบในครึ่งหน้าจนถึงร้อยกว่าบรรทัดหลายหน้าจบ รวม ๓๖ บท หากนับรวมบทเกริ่นด้วยก็จะเป็น ๓๗ บท บทเกริ่นที่กล่าวถึงนี้ประกอบด้วยข้อความเพียง ๓ บรรทัดที่บอกเจตนารมณ์ของผู้แต่งไว้อย่างคมคาย ดังนี้
ฉันกำลังเดินทางในบทกวี
บทกวีกำลังเดินทางในฉัน
เราต่างมุ่งหน้าสู่ปลายทางเดียวกัน

ไม่มีหญิงสาวในบทกวี สื่อประสบการณ์และทัศนะอันหลากหลายของผู้แต่ง ตั้งแต่การสำรวจตนเอง ทัศนะต่อบทบาท ธรรมชาติ หน้าที่ของกวีและกวีนิพนธ์ ไปจนถึงทัศนะต่อมนุษย์ ชีวิต ปรากฏการณ์และสถานการณ์ร่วมสมัยในสังคมทั้งในระดับบุคคลและก้าวไปถึงระดับมนุษยชาติโดยเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมคิดไปกับเขา แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ผู้อ่านและผู้แต่งมองเห็นหรือค้นพบอาจไม่ใช่สิ่งหรือคำตอบเดียวกัน
ซะการีย์ยา ไม่ได้เลือกที่จะนำเสนอประสบการณ์และทัศนะที่น่ารื่นรมย์ ตรงกันข้ามเขาได้นำเสนอเรื่องที่น่าเศร้าโศกไว้เป็นอันมาก แต่ก็มิได้พยายามบีบคั้นความรู้สึกผู้อ่านด้วยการแสดงออกอย่างขมขื่น เกรี้ยวกราด กลับปล่อยให้ความเข้มข้นของ”สาร”ที่ผู้อ่านรับได้ขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสในการอ่าน เช่น เขาใช้ถ้อยคำน้ำเสียงซึ่งโดยผิวเผินดูชวนขันในบท “หากฉันตาย” “กรณีวิวาทกับความเงียบ” และ “สระใอใม้มลายเสีย” แต่เมื่ออ่านซ้ำแล้วฉุกคิดก็จะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ขมและการประชดเหน็บแนมที่แฝงอยู่ หรือแม้แต่ในบทที่ชวนให้หม่นหมองมากอย่าง “จนกว่าพลทหารคนสุดท้ายจะกลับมา” เขาก็ “เล่น” กับอารมณ์เศร้าด้วยการนำรูปแบบที่ดูผ่อนคลายของรางรถไฟ อาการเคลื่อนอย่างโขยกเขยกของรถไฟ มาแทรกไว้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสามารถเชิงสร้างสรรค์ที่น่ายกย่อง
ความเด่นของไม่มีหญิงสาวในบทกวี อีกประการหนึ่งอยู่ที่การอ้างถึง (allusion) บุคคล ผลงานและสถานที่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะสะท้อนความเป็นนักอ่านของผู้แต่งเองเท่านั้นแต่ยังเป็นการจุดประกายความคิด เชิญชวนให้พอใจที่จะเปิดหน้าต่างการอ่านออกไปสู่บรรณพิภพอันกว้างไกลเพื่อขยายโลกทัศน์และภูมิรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วย