วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทางจักรา เขียนโดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ

ทางจักรา

ศิวกานท์ ปทุมสูติ


“ทางจักรา” ของศิวกานท์ ปทุมสูติ เป็นผลงานกวีนิพนธ์ในรูปแบบฉันทลักษณ์ ที่มีคำสัมผัสในบทและระหว่างบทต่อเนื่องกันไปตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนใช้ตัวละครครูกับศิษย์เป็นตัวเดินเรื่อง ดำเนินเนื้อหาไปตามการเคลื่อนหมุนของวงล้อจักรยานบนเส้นทางอันขรุขระยาวไกล ผ่านชุมชน วัด โรงเรียน ไร่นา ป่าเขา และสถานที่ต่างๆ ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมายหลายสถานะ โดยแบ่งฤดูการเปลี่ยนผ่านเป็น ๔ ภาค คือ ๑. ปลายฤดูหนาว ๒. เข้าฤดูร้อน ๓. สู่ฤดูฝน และ ๔. ฟากฤดู ในแต่ละภาคยังแบ่งออกเป็นตอนย่อยๆสั้นกระชับ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นบริบทชีวิตหลากหลายมิติ ที่โลดเล่นผสมผสานในโครงสร้างของสังคมอย่างมีสัมพันธภาพกลมกลืน

“ทางจักรา” ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเชิงปรัชญนิยายในรูปแบบกวีนิพนธ์ ที่มีตัวละครเป็นผู้สะท้อนปัญหาด้านต่างๆให้เห็นภาพกระจ่างชัด เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนาประวัติศาสตร์ สงคราม และสันติภาพ รวมไปถึงปัญหาทางด้านภายในของมนุษย์ อันเป็นองค์ประกอบที่ส่งผลก่อเกิดความเชื่อ ความศรัทธา ความสุข ความทุกข์ ความรัก ความเกลียดชัง ความดีและความชั่ว รูปแบบการนำเสนอเนื้อสารผ่านกวีนิพนธ์ของ “ศิวกานท์ ปทุมสูติ ” บ่งบอกถึงประสบการณ์ที่เข้มข้นเปี่ยมด้วยชั้นเชิงกวี เล่นคำเล่นความได้อย่างเพราะพริ้งประณีตงดงาม อีกทั้งมีความเคร่งครัดในเรื่องฉันทลักษณ์ศาสตร์ อันเป็นขนบการประพันธ์กวีนิพนธ์ไทยที่ใช้สืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน การใช้คำใช้เสียงอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ถูกต้องเหมาะสม คำแต่ละคำมีความแม่นยำหนักแน่น ได้ความหมายอันลึกซึ้ง มีความสมบูรณ์กลมกลืนด้วยลีลาอันอ่อนโยนและมีพลัง

องค์ประกอบที่โดดเด่นของ “ทางจักรา” คือการใช้ตัวละครครูกับศิษย์เป็นตัวแทนการออกค้นหาองค์ความรู้ใหม่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนและผันแปร ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นรอยทางการดำรงชีวิตทั้งด้านดีงามและความไม่สมประกอบที่มีอยู่จริงในสังคม ทำให้เห็นภาพการไหลเวียนของสรรพสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัวมนุษย์ ขณะเดียวกันผู้เขียนยังได้สอดแทรกปรัชญาชีวิตผ่านมโนทัศน์กวีอย่างสร้างสรรค์ ถ่ายทอดสภาวะปัญหาที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก ด้วยกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ผ่านตัวละครท้องถิ่นในชนบท เชื่อมร้อยพฤติการณ์ไปถึงระดับบนสูงสุด บ่งบอกถึงการกระทำและการถูกกระทำล้วนมีอำนาจบางอย่างวกวนเวียนว่ายอยู่ในทุกลมหายใจของยุคสมัย เมื่ออ่านจบทำให้เกิดความคิด เกิดปัญญา เกิดความเพลินเพลินรื่นรมย์ เกิดจินตนาการ และเกิดความสำนึกในสภาพชีวิตไปพร้อมๆกัน